ผลการแข่งขัน>> 2017 2016 2015 2014 2012 2011

2010

2009

ทีม TU Formers ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อต้นปี 2552 โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ของภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรถแข่งเข้าร่วมการแข่งขัน TSAE Auto Challenge Student Formula 2009 ซึ่งพวกเราพบว่ามันเป็นกิจกรรมที่ดีมาก และก็ได้มีนักศึกษาที่สนใจรับช่วงต่อกันมา มีขึ้น มีลง ผ่านอุปสรรคต่างๆ จนถึงปัจจุบัน  โดยมีปี 2556 ที่เราไม่ได้ลงแข่งขันเนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนระบบการทำงานจากเดิมที่นักศึกษาทำเป็นโครงงานปี 4 มาเป็นการทำแบบกิจกรรมนักศึกษาที่ไม่เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา เรากลับมาทำงานกันเต็มที่อีกครั้งในปี 2557 โดยมีนักศึกษาชั้นปีที่ 3 เป็นกำลังหลัก ในนาม TU Formel

เวปไซต์นี้ถูกใช้เป็นที่บันทึกเหตุการณ์ต่างๆที่ผ่านมาโดยสังเขป และคงจะมีเรื่องให้บันทึกกันต่อไปเรื่อยๆ
 


 





   

บันทึก

2559-60

TU Formel  ยังไปต่อ...


 

2558

New Obstacle, ... New Alliance

เปิดปีใหม่มาได้ไม่นาน อ.ชัยพงศ์ ก็มีเหตุต้องลาออก ตามด้วย อาจารย์ใหม่อีกท่านที่เข้ามาทำงานให้โครงการวิศวกรรมยานยนต์ เลยต้องกลับมาใช้บริการอาจารย์ที่ปรึกษาดั้งเดิม คือ อ.บรรยงค์ และ อ.ดุลยโชติ จากนั้นก็พบกับอุปสรรคชิ้นใหญ่ คือ คณบดี ไม่อนุมัติโครงการฯ ตั้งแต่เดือน มิ.ย.58 โดยบอกว่าต้องการให้ไปทำที่ศูนย์พัทยา ซึ่งหลังจาอธิบายเหตุผลต่างๆแล้วก็ดูเหมือนจะหมดเรื่อง แต่ปรากฏว่า คณบดีก็ยังไม่อนุมัติโครงการฯ โดยสั่งให้เปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษาโดยไม่ให้เหตุผล     อ้าว...เอาไงหละ อาจารย์ที่รู้เรื่องการแข่งขันนี้ ก็มีกันอยู่แค่นี้

สุดท้ายก็ต้องยอมเปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษา เป็น ผศ.ดร. ชาญณรงค์ อัศวเทศานุภาพ แต่เรื่องก็ลากยาวมาถึง ธ.ค. 58 จึงอนุมัติโครงการ และงบประมาณ ยังดีที่ปีนี้เลื่อนแข่งเป็น ม.ค. 59 แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ใหญ่หลวงนัก เพราะทำให้งานล่าช้าไปหลายเดือนจนมีแนวโน้มว่าจะเสร็จเช้าวันแข่งอีกตามเคย

แม้จะมีอุปสรรค แต่ก็มีสิ่งดีๆเกิดขึ้นคือ สมาคมศิษย์เก่าวิศว มธ. ยื่นมือเข้าช่วยระดมทุนสนับสนุน และยังมีทีม SIIT Automech มาร่วมกันทำงานแข่งกับเวลา และมีผู้สนับสนุนภาคเอกชนอีกหลายราย
...
รอลุ้นกันต่อไปว่าจะทำทันหรือไม่




เอาอีกแล้ว...ตีสามวันแข่งยังทำไม่เสร็จเลย



 

2557

TU Formers Reborn

  ปีนี้ทีมแข่งกลับมาเกิดใหม่ในนาม TU Formel  โดยมีนักศึกษาชั้นปีที่ 3 เป็นกำลังหลัก ทำงานเป็นกิจกรรมนักศึกษา 100% แถมยังได้อาจารย์ที่ปรึกษารุ่นใหม่ไฟแรง อ.ชัยพงศ์ ลิมปานนท์ ที่ศึกษาทาด้าน Motorsport มาโดยตรง ผลก็คือ "น้องปี 3" ทำรถไปแข่งกับเขาได้อย่างสนุก แม้ตอนท้ายปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงจะกลับบ้านเก่าไปก่อน แต่ก็ยังแข่งจนจบการแข่งขันได้อย่างหวุดหวิด....   ปีหน้ามีเฮแน่เลย


 

2556

Leave Year

ปี 2556 เป็นช่วงเปลี่ยนถ่าย จากการทำทีมแบบเป็นส่วนหนึ่งของวิชาโครงงาน ให้เป็นการทำทีมแบบสมัครใจ ไม่มีเกรด รองรับ งานนี้เลยสะดุดเล็กน้อย ไม่มีคนทำงาน TU Former V เลยมีแต่เฟรม
 

พ.ย. 55 TU Formers IV เสร็จช้ากว่ากำหนด ทำให้เข้าร่วมการแข่งขันในสภาพที่ไม่พร้อม สุดท้ายเราไม่ผ่านการทดสอบเบรก เนื่องจากการเซ็ตช่วงล่างด้านหน้าอ่อนเกินไป ปีนี้จึงเป็นปีแรกที่เราไม่ได้แข่งใน Dynamic Event ปีหน้าว่ากันใหม่
 
ม.ค. 55

ขนรถที่ทำเสร็จไปแล้ว 90% กลับมาที่คณะฯซึ่งมีไฟฟ้าใช้แล้วบางส่วน แต่ Workshop เครื่องกลยังไม่มีไฟฟ้า จึงขอความอนุเคราะห์สถานที่จาก ภาคฯเคมี   ทำงาน 24 ชม. จนถึงเช้าวันแข่ง (วันที่ 8 ม.ค.)  แล้วยกไปสนามแข่งเลย  โดยสามารถผ่าน inspection ได้ในบ่ายวันที่ 9 ม.ค. และได้ลงแข่งในรายการ Autocross และ ในวันถัดไปได้ลงแข่ง Endurance ในกลุ่มนำ แม้ว่าผลการแข่งขันจะไม่สวยหรูตามที่ตั้งเป้าไว้ แต่ต้องถือว่าประสบความสำเร็จสุดๆ (ต้องโทษน้องน้ำ)


 

12 ธ.ค. 54 การสร้างรถ TU Formers 3 ต้องขนย้ายไปทำต่อที่โรงงาน HHP ในจังหวัดระยองซึ่งให้ความอนุเคราะห์สถานที่ และเครื่องมือ คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณวันที่ 7 ม.ค. 55 (แข่งวันที่ 8 ม.ค.)
 
24 ต.ค. 54

Worst Case Scenario?

สอบยังไม่ทันจะเสร็จ ก็เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี     Workshop เครื่องกล สถานที่สร้างรถ TU Formers 3 ถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร ทำให้เครื่องจักรทั้งหมดได้รับความเสียหาย รวมทั้งรถแข่ง TU Formers 1 และ 2 (แม้จะยกขึ้นไว้ 50 ซมแล้วก็ตาม) โชคดีที่รถแข่งคันใหม่ตั้งอยู่บนรถกระบะอีกที เลยไม่ได้รับความเสียหาย แต่งานก็ล่าช้าไปมาก เนื่องจาก น้ำเพิ่งจะแห้งเมื่อปลายเดือน พ.ย. และ Workshop จะไม่มีไฟฟ้าใช้ไปถึงปีหน้าเลย


 

3 ต.ค. 54 หลังจากนั่งทำ Cost Report หามรุ่งหามค่ำมา ตลอดเดือน ก.ย. (งวดนี้มีห้องแอร์ ไม่ต้องโดนยุงกัดแล้ว)
ในที่สุดก็ทำเสร็จ ส่งออกไปได้ตามกำหนด จากนี้ทุกคนก็ลาไปสอบปลายภาค ชิ้นส่วนต่างๆตอนนี้รออยู่ในตู้แล้ว
สอบเสร็จค่อยกลับมาประกอบรถอีกที


 

4 ส.ค. 54

สมาชิกทีม TU Formers 2 แวะมาทักทายอาจารย์ ในโอกาสที่กลับมาซ้อมรับปริญญา  ได้งานดีๆกันทั้งนั้น


 

มิ.ย. 54 หายไปพักใหญ่ บ้างก็ไปฝึกงาน บ้างก็ไปทำรถแข่ง Bosch Cordless Racing  ในที่สุดก็ได้ฤกษ์ลงมือขึ้นโครงรถ


 

12 ม.ค. 54 Keep it rolling

ประชุมทีม TU Formers 3  ปีนี้มีสมาชิกจากทั้งนักศึกษาภาคปกติ และนักศึกษาภาคภาษาอังกฤษ
ประชุมเสร็จก็แยกย้ายกันไปตามอัธยาศัย เอาไว้ว่างๆค่อยมาเริ่มงาน


 

10 ธ.ค. 53 Reward of Hard work

แก้งานทั้งคืนรถเสร็จตอนเช้าวันแข่งพอดี ตรวจผ่าน แข่งจบ แต่มีปัญหาทางเทคนิคเวลาออกมาไม่ค่อยดี แถมโดนหักคะแนน Cost ติดลบ 100 คะแนน เพราะรายงาน cost ไม่ละเอียดพอ (จุดนี้ไม่แฟร์ เพราะต่อให้ไม่ส่งรายงานก็หัก 100 เท่ากัน ตรงนี้ทางเราถือว่ากรรมการบกพร่อง) เลยได้คะแนนเป็นที่ 14 เหมือนเดิมเป๊ะ แต่คราวนี้เราเป็น 1 ใน 5 ทีม ที่ได้ถ้วยรางวัลกลับบ้าน (Best Fuel Economy) แถมนักขับหญิง หนึ่งเดียวในงาน ก็ยังได้รางวัลพิเศษจากท่านอาจารย์พูลพรด้วย  We are happy. ดูรายละเอียดผลการแข่งขันได้ที่นี่...


 

5 ธ.ค. 53 ถือฤกษ์มงคลวันเฉลิมฯ ทดสอบรถ เก็บงานอีกนิดหน่อยเราก็พร้อมแข่งแล้ว นับเป็นโชคดีที่ผู้จัดเลื่อนการแข่งขันจากเดิมปลาย พ.ย. เป็นวันที่ 10-12 ธ.ค. 53 ไม่งั้นรถเสร็จไม่ทันแน่ๆ


 

30 พ.ย. 53 จวนเสร็จแล้ว เหลือสิ่งที่ต้องทำอีกร้อยกว่ารายการ อีกเดี๋ยวก็ลองวิ่งได้แล้ว


 

26 ต.ค. 53

ต้องขอขอบคุณภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการที่ช่วยผลิตชิ้นสำคัญด้วยเครื่อง CNC ตอนนี้สอบเสร็จแล้ว ปิดเทอม ทำงานกันได้เต็มที่ อีกไม่กี่วันก็คงเสร็จ


 

3 ก.ย. 53
TSAE แจ้งว่าผลการทดสอบ IA ของเราไม่ชัดเจน ไหนๆก็ต้องส่งรายงานใหม่แล้วเลยออกแบบ IA ใหม่อีกรอบโดยทำจากวัสดุเหลือใช้ เพื่อลดโลกร้อน คราวนี้เลยทดสอบเต็มรูปแบบ ทั้ง static และ dynamic tests เลย

พอตกดึกมีข่าวดี เครื่องติดแล้ว เสียงคำรามทรงพลังมาก  ต้องขอขอบคุณพี่ xxx จาก rrr ที่มาช่วยชี้ทางสว่างให้

แค่นั้นยังไม่พอ ปีนี้เราทำการปรับปรุงระบบไฟแสงสว่างของอาคารปฏิบัติการ ทำให้ความสว่างเพิ่มขึ้น 3 เท่า เพื่อเปลี่ยนกลางคืนให้เป็นกลางวัน

 
6 ส.ค. 53
This is ENGINEERING

การออกแบบกันชน (Impact Attenuator - IA) เริ่มด้วยการทดลอง Hydraulic Press เพื่อช่วยในการเลือกวัสดุ  จากนั้นทางทีมต้องใช้งบประมาณและทรัพยากรจำนวนมากในการสร้างชุดทดสอบการชน ด้วยการทิ้งมวล 300 กก. จากความสูง 2.5 เมตร ลงมายัง IA

เราได้ออกแบบ IA จำนวน 3 แบบ เพื่อมาทดสอบการชน และนำผลมาปรับเปลี่ยนรูปแบบ จนในที่สุดได้รูปแบบของ IA (ที่ไม่สามารถเปิดเผยได้) ซึ่งสามารถลดแรง กระแทกสูงสุดเหลือไม่ถึง 40g โดยมีค่าเฉลี่ย
อยู่ที่ประมาณ 10g

ขอขอบคุณภาควิชาวิศวกรรมโยธาที่เอื้อเฟื้อ บุคคลากร วัสดุ เครื่องมือ และสถานที่ และ ขอบคุณ นศ. ป.โท จากห้องปฏิบัติการ APPLY มาที่ช่วยเก็บข้อมูลความเร่งด้วยเครื่อง DEWETRON DEWE-800


ชมภาพถ่ายจากกล้องความเร็วสูงได้ที่นี่:

TUFormers_Impact_Attenuator.wmv

5 ส.ค. 53

สมาชิกทีม TU Formers 1 แวะมาทักทายอาจารย์ ในโอกาสที่กลับมาซ้อมรับปริญญา  บางคนก็ไปทำงาน บางคนก็เรียนต่อ


 

ก.ค. 53 สร้างเฟรมจำลองขนาด 1:1 และเริ่มขึ้นเฟรมจริง


 

มิ.ย. 53 เมื่อเวลาผ่านไป นักศึกษาปี 3 ก็กลายเป็นปี 4 ที่ตอนนี้เราเรียกว่า TU Formers 2 แล้ว งานออกแบบเดินหน้าอีกครั้งอย่างช้าๆ มีการแก้แบบกันอีกหลายรอบ

   
 

มี.ค. - พ.ค. สมาชิกรุ่น 1 เรียนจบออกไปทำงาน ส่วนสมาชิกรุ่น 2 ก็ไปฝึกงานฤดูร้อน   ทุกอย่างหยุดชั่วขณะ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีนักศึกษาจากโครงการ TEP&TEPE ปี 2 ตั้งทีมขึ้นมาทำรถอีกคัน
 
16 ก.พ. 53 ประชุมทีมแบ่งงานกันอีกครั้ง ที่ผ่านมานักศึกษาปี 3 ว่าที่ TU Formers 2  ได้แบ่งกันไปศึกษากติกา SAE Student Formula 2010 เป็นที่เรียบร้อย อย่างไรก็ตาม งานออกแบบยังไม่มีความคืบหน้า สมาชิก TU Formers 1 ได้ฤกษ์ กลับมาเริ่มงานอีกครั้ง โดยเริ่มด้วยการปรับแต่งช่วงล่างของรถแข่งคันเก่าให้สูงขึ้นจากเดิม เพื่อให้สามารถวิ่งบนถนนภายในมหาวิทยาลัยได้ แล้วก็ช่วยแนะนำแนวทางการออกแบบให้รุ่นน้อง
 

15 ก.พ. 53

เครื่องยนต์ Kawasaki Ninja ZX6R 2007 เดินทางมาถึงคณะฯ แต่ก็ยังไม่ได้ทำอะไรกับมัน (ขาดเซนเซอร์วัดความดัน เซ็นเซอร์รถเอียง และสวิทช์กุญแจ)
 

2 ธ.ค. 52

New Generation

เตรียมทำรถคันใหม่เข้าแข่งในปีหน้า ประชุมทีมใหม่เป็นครั้งแรก มีนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 20 คนเพื่อรับช่วงต่อ งานนี้นักศึกษาปี 4 ที่มีประสบการณ์จากการแข่งขันครั้งที่แล้วจะเป็นพี่เลี้ยงในช่วงแรก

21-23 พ.ย. 52

Great Start!

ร่วมแข่งขันในรายการ TSAE เป็นครั้งแรก ด้วยเครื่องยนต์ 400cc สามารถทำผลงานเป็นอันดับที่ 14 จาก 31 ทีม ดูเหมือนงั้นๆ แต่จริงๆแล้ว ถือเป็นความสำเร็จอย่างสูง เพราะสมาชิกในทีมบางคน ตอนแรกไม่รู้เรื่องรถและยังขาดทักษะการใช้เครื่องมือ แต่ในที่สุดสามารถสร้างรถแข่งให้วิ่งได้เร็วพอควร แข่งจนครบทุกรายการโดยรถไม่เสีย และยังได้อันดับเหนือกว่าทีมปีแรกทุกทีม และทีมเก่าอีก 14 ทีม    คลิ๊กที่นี่เพื่อดูรายละเอียด >>


 

พ.ค.-พ.ย. 52

ช่วงแรกงานไม่ค่อยเดิน แต่งานก็มาเข้มข้นขึ้นเมื่อใกล้วันแข่ง จนในที่สุด 6 โมงเช้าวันที่ 21 พ.ย. รถก็เสร็จพอดี ยกขึ้นรถไปสนามเลย
  
 

มี.ค. 52
Where it all begin

เรื่องนี้เริ่มต้นเมื่อ ผศ. ดร. วิโรจน์ ลิ่มตระการ มาบอกอาจารย์ในภาคฯว่า เราน่าจะเข้าร่วมการแข่งขัน TSAE Auto Challenge ซึ่งเป็นกิจกรรมของนักศึกษา ในการออกแบบ สร้างรถแข่ง และนำเข้าแข่งขัน กันระหว่างสถาบันอุดมศึกษา ที่เขาทำกันมา 5 ปีแล้ว กิจกรรมนี้จะช่วยพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาเรา ฯลฯ ....

แล้วก็มีคนเห็นด้วย หัวหน้าภาคฯก็เลยติดประกาศรับสมัครนักศึกษาที่สนใจ ... แล้วพวกเขาก็มากัน...ทุกคนชอบ Transformers มากๆ เลยตั้งชื่อทีมว่า TU Formers

 

[กลับไปหน้าแรก]

 Last update 12/08/2023

ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
เลขที่ 99 หมู่ 18 ถนนพหลโยธิน ต. คลองหนึ่ง อ. คลองหลวง จ. ปทุมธานี 12120
โทร 0-2564-3001 ถึง 9 ต่อ 3041, 3151 แฟกซ์ 0-25643023 อีเมล bnaowarat@engr.tu.ac.th เวปไซต์
http://me.engr.tu.ac.th